Why Did Warren Buffett Buy IBM?

warren-buffet-ibm

Buffett นั้นได้ชื่อว่ามักจะเลี่ยงการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมาโดยตลอด ด้วยเหตุผล เช่น เขาไม่เข้าใจเทคโนโลยีพอ หรือ เพราะเขาไม่แน่ใจถึงอนาคตข้างหน้าอีกหลายๆปีของบริษัทเทคโนโลยี ทำให้เขาไม่กล้าลงทุนในบริษัทแบบนี้มาโดยตลอด

แต่แล้วเมื่อปี 2012 Buffett ได้บอกกับผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway ผ่านจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า เขาได้ซื้อหุ้น IBM และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนหนึ่งที่มีสัดส่วนถือหุ้น IBM อยู่สูงถึง 5.5% หลังจากที่เขาประกาศออกมานั้น หุ้น IBM ก็ทะยานขึ้นจาก ร้อยกว่าเหรียญปลายๆไปแตะ new high ที่ 207 เหรียญในปีถัดมา

แต่แล้วราคาหุ้นก็ได้ร่วงลงมามากถึง 28% เมื่อ IBM แพ้ให้กับ Amazon ในการประมูลงานบริหารระบบ cloud ให้ CIA (Central Intelligence Agency) หลังจากนั้นหุ้น IBM ก็เริ่มถูก Wall Street ถล่มขายกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ราคาหุ้นลงมาเหลือเพียงประมาณ 160 เหรียญเท่านั้น

Warren Buffett ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่า เขาชอบ IBM เพราะ เขาชื่นชมผู้บริหารที่มีความสามารถเข้ามา turnaround และรักษา IBM ไม่ให้ล้มละลายได้สำเร็จ หลังจากที่ IBM ซึ่งขายฮาร์ตแวร์ขนาดใหญ่ที่จัดว่าเป็นธุรกิจกำไรต่ำ ต้นทุนการผลิตและบริหารสูงนั้น ได้เริ่มแพ้ให้กับฮาร์ตแวร์ขนาดเล็กลงมา และความต้องการที่ลดลงเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาอย่าง cloud computing นอกจากนี้ Buffett ยังชื่นชมว่าผู้บริหารของ IBM สามารถบริหารการเงินและหนี้สินได้ดีเยี่ยม เขาถือว่า IBM เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งที่บริหารการเงินได้ดีที่สุดและมุ่งสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนโดยการจ่ายเงินปันผลและซื้อหุ้นคืน

The Fall of the American IT Giant

อย่างไรก็ตาม หลังจาก CEO เปลี่ยนผ่านไปถึง 3 คน ธุรกิจของ IBM ก็ยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างยั่งยืน รายได้ลดลงต่อเนื่องถึง 12 ไตรมาสติดต่อกัน นักลงทุนหลายคนแสดงความไม่มั่นใจในวิสัยทัศน์และทักษะการบริหารงานการ turnaround ของ CEO คนล่าสุด ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ 100 ปีของ IBM ชื่อ Ginni Rometty กลยุทธ์ในการ turnaround ในปัจจุบันยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ CEO สองคนก่อนเข้ามาตั้งแต่ปี 2002 นั่นคือ เปลี่ยน IBM จากบริษัทที่ขายฮาร์ตแวร์ ไปเน้นธุรกิจที่มีกำไรสูงกว่าและมีตลาดเติบโตสูงรองรับอย่าง data analytics, cloud-based technology, cognitive computing และ mobile and social technology ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจให้บริการมากกว่าธุรกิจขายฮาร์ตแวร์

Ginni เชื่อว่ากลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่ว่าจะทำกันปี สองปี แล้วเห็นผล แต่เป็นการลงทุนเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทที่เป็นไอคอนให้กับอเมริกาอย่าง IBM ใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งงานนั้นจะต้องซับซ้อนและใช้เวลามากกว่าปกติกว่าจะเห็นผล ทั้งการเปลี่ยนแปลงการวางทรัพยากรการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวสินค้าและบริการของ IBM รวมถึงบุคลากรและวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้บริษัทได้โฟกัสกับธุรกิจใหม่อย่างเต็มที่

Warren Buffett บอกว่า เขารู้อยู่แล้วว่าราคาหุ้นของ IBM จะแย่ลงหรือไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดกันไปอีกนาน Berkshire Hathaway ซื้อหุ้นแล้วไม่เคยหวังว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปเลยทันทีแน่นอน เขาย้ำว่าการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นนั่นเป็น “สิ่งสุดท้าย” ที่ Berkshire หวังจะเห็นจากการลงทุน Buffett กลับชอบเสียอีกให้ราคาหุ้นตก เพราะ นั่นหมายความว่า Berkshire จะได้เข้าไปซื้อหุ้น IBM เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการที่ IBM มุ่งมั่นที่จะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นด้วยการซื้อหุ้นคืน เพื่อลดจำนวนหุ้นทั้งหมดในตลาดลง ทำให้ค่า Earnings Per Share (EPS) และ สัดส่วนการเป็นเจ้าของ IBM ของ Berkshire เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ดูเหมือนว่า Buffett และ Berkshire จะจริงจังกับหุ้น IBM มาก อย่างน้อยก็มากพอที่ทำให้ Berkshire ถือหุ้น IBM สูงเป็นอันดับ 3 ในพอร์ทโฟลิโอของ บริษัท ดูไปแล้วตลาดของ cloud-based technology จากลูกค้าประเภทบริษัทองค์กรใหญ่ๆ หรือ ธุรกิจ startup ซึ่งต้องการความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพยากร IT นั้นโตเร็วมาก ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีสูงเกิน 30% ส่วนแบ่งตลาดของ IBM นั้นก็ไม่ได้เป็นรองทีเดียว แพ้ให้กับ Amazon และ Microsoft เท่านั้น ลูกค้าส่วนใหญ่ของ IBM นั้นก็เป็นบริษัทที่มีอิทธิพลระดับโลกอย่างบริษัท Fortune 500 ใน sector ธนาคารชั้นนำ ค้าปลีกชั้นนำทุกประเภท การแพทย์ และอื่นๆอีกมากมาย

Who Says Elephants Can’t Dance?

Buffett ทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มั่นใจถึงอนาคตของ IBM เท่า Coca Cola และ Wells Fargo (หุ้นธนาคารที่ Buffett ถือไว้สูงสุดของพอร์ท) แต่ก็มั่นใจมากพอที่จะถือ IBM ไว้

IBM นั้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำสัญชาติอเมริกันเพียงไม่กี่บริษัทที่สามารถรอดพ้นความเสี่ยงล้มละลายมาหลายครั้ง ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตตลาดหุ้นมานับร้อยปี คนส่วนใหญ่จะมองว่า IBM ไม่รอดแน่ เพราะเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากทำให้ขาดความคล่องตัวต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่แบบนี้ แต่ใน ปี 2002 CEO คนเก่าของ IBM ชื่อ เกิร์สเนอร์ (Gerstner) ได้ turnaround IBM สำเร็จ และได้เขียนหนังสือเล่าความสำเร็จไว้อย่างภาคภูมิแก่ IBM ด้วยชื่อว่า

“Who Says Elephants Can’t Dance? Inside IBM’s Historic Turnaround”

คงต้องติดตามดูกันอย่างใกล้ชิดไตรมาสต่อไตรมาสกันเลยทีเดียวว่า IBM จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งและทำให้ Warren Buffett เดิมพันได้ไม่พลาดอีกครั้งหรือไม่…

Photo: rankia.com

ทุกท่านสามารถ subscribe รับ email จากเราทุกครั้งที่มีบทความใหม่ออกมาได้โดยกด Follow ด้านข้างได้เลยครับ